คาร์ซีทหรือเบาะนั่งนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็ก เป็นอุปกรณ์เสริมที่ต้องใช้ระยะยาว บางรุ่นผลิตมาเพื่อใช้งานกับเด็กแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 12 ปี ดังนั้น ในระหว่างการใช้งานจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่คาร์ซีทจะต้องได้รับการทำความสะอาด และการทำความสะอาดนั้นก็ควรทำอย่างถูกวิธี เพื่อให้เชื้อโรค ฝุ่นและความสกปรกต่างๆหายไปจนหมด อีกทั้งคาร์ซีทยังมีส่วนประกอบที่เป็นช่องเล็กๆ ซอกเล็กๆจำนวนหลายที่ การทำความสะอาดก็ควรจะครอบคลุมไปถึงส่วนนั้นด้วย เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยนั่นเอง
การทำความสะอาดคาร์ซีทให้ทั่วทุกซอกมุมทำได้ 2 วิธี คือ 1.ถอดแยกชิ้นส่วนนำไปซัก และ 2.ถอดแยกชิ้นส่วน แต่ไม่ต้องซัก จะเห็นว่าทั้ง 2 แบบมีวิธีที่ทำเหมือนกันก็คือการถอดแยกชิ้นส่วน นั่นเป็นส่วนสำคัญมากๆ ที่ทำให้คาร์ซีทสะอาดอย่างทั่วถึงทุกซอกมุม
1. ถอดแยกชิ้นส่วนและนำไปซัก
ขั้นตอน
- ถอดแยกชิ้นส่วนของคาร์ซีทออกจากกัน คาร์ซีทแต่ละรุ่นอาจจะมีวิธีการถอดเบาะออกจากโครงที่แตกต่างกัน ดังนั้นอาจจะต้องศึกษาวิธีการของรุ่นนั้นๆ และจำให้ดีว่าถอดส่วนไหนออกมาจากจุดไหน เพราะมีผลต่อการประกอบคืน
- เมื่อถอดเรียบร้อยแล้ว เราก็จะได้ตัวโครงของคาร์ซีทและส่วนของเบาะ ผ้าหุ้มเบาะ ผ้าหุ้มสายรัดนิรภัยต่างๆ วิธีการทำความสะอาดของ 2 ส่วนนี้จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย
การทำความสะอาดโครงคาร์ซีท
- ให้ดูดฝุ่นในซอกหรือช่องเล็กๆก่อน จากนั้นใช้น้ำล้างให้ทั่วทั้งโครง ในส่วนของซอกหรือช่องเล็กๆ อาจใช้น้ำฉีดเข้าไปเพื่อไล่ฝุ่น
- ใช้ผ้าชุบน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับเด็กเช็ดให้ทั่วในส่วนที่เล็กและทำความสะอาดยากอาจใช้แปรงขนาดเล็กหรือแปรงสีฟันช่วยขัดถูส่วนนั้น ในส่วนของน้ำยาฆ่าเชื้อและนำให้เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับเด็ก ซึ่งมีขายในแอปฯออนไลน์และแผนกสินค้าสำหรับเด็ก จะใช้แบบเดียวกับที่เอาไว้สำหรับทำความสะอาดของเล่นเด็กก็ได้ ซึ่งน้ำยาแต่ละชนิดก็มีวิธีการใช้งานแตกต่างกัน บางชนิดต้องล้างออก บางชนิดไม่ต้องล้างก็ให้ทำตามวิธีนั้นๆ ได้เลย
- นำไปผึ่งลมจนแห้ง แล้วนำไปประกอบคืน
การทำความสะอาดเบาะ ผ้าหุ้มเบาะ
จะซักมือหรือซักเครื่องก็ได้ แต่ให้ระมัดระวังเรื่องของอุณหภูมิน้ำและความแรงของการซัก น้ำควรเป็นอุณหภูมิห้องปกติและไม่ควรขยี้แรงจนเบาะเสียรูป ซักเครื่องก็ไม่ควรใช้แรงปั่นที่แรงเกินไป
- นำเบาะ ผ้าหุ้มเบาะล้างน้ำสะอาด 1 รอบแล้วแช่น้ำยาซักผ้าสำหรับเด็กไว้ประมาณ 20-30 นาที หากไม่ได้สักเป็นเวลานานก็สามารถแช่ไว้นานกว่านั้นได้
- น้ำยาซักผ้าที่ใช้ควรเป็นน้ำยาซักผ้าสำหรับเด็กโดยเฉพาะ หากเป็นแบบออแกนิคได้ก็จะดีมาก เพราะส่วนของเบาะจะสัมผัสกับผิวเด็กโดยตรง ผลิตภัณฑ์แบบออแกนิคจะเสี่ยงต่ออาการแพ้น้อยกว่า
- ครบเวลาแล้วก็ล้างทำความสะอาดและนำมาแช่น้ำยาปรับผ้านุ่มอีก 1 รอบ ผลิตภัณฑ์น้ำยาปรับผ้านุ่มก็ควรเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและแบบออแกนิคอีกเช่นกัน
- นำไปตากแดดให้แห้งสนิท
- หากต้องการเพิ่มความมั่นใจในเรื่องความสะอาดอีกก็สามารถใช้สเปรย์ฆ่าเชื้อโรคสำหรับเด็กมาฉีดอีกครั้งและผึ่งลมให้แห้งก็ได้
- เรียบร้อยแล้วประกอบคืน
ข้อดีและข้อเสียของการถอดแยกชิ้นส่วนและนำไปซัก
ข้อดี
- มั่นใจในความสะอาดได้มากกว่า เพราะผ่านทั้งการซักล้างน้ำสะอาดและน้ำยาฆ่าเชื้อ
- สามารถเลือกวิธีการได้ว่าจะซักมือหรือเครื่องตามสะดวก
- ประหยัดค่าใช้จ่าย ทำเองได้ไม่ต้องพึ่งร้านซัก
ข้อเสีย
- มีหลายขั้นตอนและใช้เวลานานกว่าส่วนที่เป็นผ้าและเบาะจะแห้งสนิท
- เบาะอาจเสียรูป เมื่อซักด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง เช่น เลือกแรงปั่นที่แรงเกินไป ซักมือด้วยการขยี้ที่แรงเกินไป

2. ถอดแยกชิ้นส่วน แต่ไม่ต้องซัก
วิธีที่ 2 นี้ การถอดชิ้นส่วนออกจากกันยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความสะอาดอย่างทั่วถึง แต่ขอเน้นย้ำว่าเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับคาร์ซีทที่ไม่ได้หมักหมมในเรื่องของความสกปรกไว้นานนัก หากทิ้งไว้นานเกินกว่า 2 เดือนขึ้นไป ก็ยังคงแนะนำให้ใช้วิธีการซักจะเหมาะสมและสะอาดกว่า
ขั้นตอน
- ถอดแยกชิ้นส่วนของโครงและเบาะ , ผ้าหุ้มเบาะออกจากกัน
การทำความสะอาดโครงคาร์ซีท
- ใช้เครื่องดูดฝุ่นมาดูดจนทั่วทุกซอกมุมของโครงคาร์ซีท
- ใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ดจนทั่ว ในช่องหรือซอกเล็กๆ สามารถใช้แปรงสีฟันหรือแปรงขนาดเล็กช่วยขัดได้
- ใช้ผ้าชุบน้ำยาฆ่าเชื้อบิดหมาดๆมาเช็ดจนทั่ว หากน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้เป็นประเภทที่ต้องเช็ดออกด้วยน้ำสะอาดก็ให้เช็ดได้เลย แต่ถ้าเป็นประเภทที่ไม่ต้องเช็ดหรือล้างออกด้วยน้ำสะอาดก็ปล่อยผึ่งลมทิ้งไว้ให้แห้งสนิท
- ฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้ออีก 1 รอบและปล่อยผึ่งลมไว้จนแห้งสนิท แล้วจึงนำมาประกอบกับส่วนของเบาะและผ้าหุ้มต่างๆ
การทำความสะอาดเบาะ ผ้าหุ้มเบาะ
- ตรวจสอบให้ทั่วว่าที่บริเวณเบาะหรือผ้าหุ้มมีคราบหนักหรือไม่ ถ้ามีและยังไม่สะดวกซักให้นำผ้าชุบน้ำมาเช็ดและใช้แปรงสีฟันหรือแปรงขนาดเล็กมาขัดคราบนั้นออกจนหมด
- ใช้สเปรย์ฆ่าเชื้อสำหรับเด็กมาฉีดให้ทั่วเบาะและผ้าหุ้มเบาะ จากนั้นนำไปตากแดดประมาณ 2 ชั่วโมงขึ้นไปและนำมาฉีดสเปรย์อีก 1 รอบ ปล่อยผึ่งลมให้แห้งสนิทหรือหากในช่วงนี้ยังมีแดดอยู่ก็นำตากแดดอีกประมาณ 1 ชั่วโมง เสร็จแล้วนำส่วนของโครงและเบาะมาประกอบเพื่อใช้งานได้เลย
ข้อดีและข้อเสียถอดแยกชิ้นส่วน แต่ไม่ต้องซัก
ข้อดี
- ขั้นตอนน้อย ใช้เวลาไม่นาน ประหยัดเวลา
- ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ เพราะใช้น้ำเพียงเล็กน้อยในวิธีนี้และไม่ต้องซักเครื่อง ซักมือ
ข้อเสีย
- ไม่เหมาะกับคาร์ซีทที่นานๆซักที เพราะอาจทำความสะอาดพวกเชื้อโรคและฝุ่นสะสมได้ไม่ดีพอ
- กลิ่นของสเปรย์จะรุนแรงกว่าพวกน้ำยาซักผ้าหรือน้ำยาปรับผ้านุ่ม ดังนั้น ต้องเลือกให้ดี ทั้งแบบที่ผลิตมาเพื่อใช้กับเด็กและกลิ่นไม่แรง
นอกจาความปลอดภัยบนท้องถนนแล้ว พ่อๆ แม่ๆ ทุกท่านก็อย่าลืมใส่ใจในเรื่องความสะอาดของคาร์ซีทด้วยนะคะ อย่าลืมว่าการละเลยเรื่องเล็กๆเหล่านี้สามารถนำพาโรคภัยไข้เจ็บมาสู่ลูกน้อยของคุณได้เลยทีเดียว