การเป็นพ่อแม่ต้องรับมือกับหลายอย่างมากค่ะ การนั่งคาร์ซีทดูเหมือนจะไม่ยากนัก แต่เด็กแต่ละคนก็มีนิสัยส่วนตัวและบุคลิกที่แตกต่างกันไป เด็กบางคนก็ไม่ยอมที่จะนั่งคาร์ซีทเอาเสียเลย แต่อย่างใดแล้วเมื่อคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย เรื่องนี้ก็ไม่สามารถที่จะละเลยไปได้ จึงต้องเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ในการที่จะฝึกหรือต้องถึงขั้นเกลี้ยกล่อมให้ลูกยอมนั่งคาร์ซีท เมื่อลูกไม่ยอมนั่งคาร์ซีทจะทำอย่างไรดี ลองใช้วิธีเหล่านี้ดูนะคะ
1. ตรวจเช็คคาร์ซีทให้ดีว่าเหมาะกับสรีระของลูกหรือไม่
การที่ลูกไม่ยอมนั่งคาร์ซีทอาจเพราะไม่สบายตัวหรือคาร์ซีทนั้นไม่เหมาะสมกับสรีระของลูก อาจมีการรัดแน่น เบาะนั่งไม่สบาย ลูกขยับตัวได้ยากลำบาก หากเป็นเหตุผลนี้ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเปลี่ยนคาร์ซีทใหม่ ในวัยเด็กแรกเกิดอาจสื่อสารบอกพ่อแม่ไม่ได้ว่าไม่สบายตัว แต่ในเด็กโตพ่อแม่ก็จะต้องคอยสังเกตและถามบ่อยๆ ว่านั่งสบายหรือไม่ หากไม่ก็ยังแนะนำให้เปลี่ยนคาร์ซีทเช่นกัน
2. ให้ลูกเห็นตัวอย่างว่าเด็กคนอื่นๆ ก็นั่งคาร์ซีท
เมื่อการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาของพ่อแม่อาจไม่ได้ผล ในวัยเด็กที่พอจะเข้าใจเรื่องราวในระดับหนึ่งแล้ว การพาเด็กให้ไปเห็นว่าคนอื่นๆ ในวัยเดียวกันก็ต้องนั่งคาร์ซีทเหมือนกัน เป็นตัวอย่างและคำสอนที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง พ่อแม่อาจพาไปบ้านญาติๆ บ้านเพื่อนๆ และให้เด็กเห็นว่าเด็กคนอื่นก็ใช้คาร์ซีทและไม่มีอาการงอแงเช่นเขา เขาจะรู้สึกและตั้งคำถามว่าเขาแปลกแยกหรือไม่และในที่สุดก็เกิดความรู้สึกว่าเขาก็ต้องทำให้ได้เช่นกัน
3. ให้ลูกมีส่วนร่วมในการเลือกคาร์ซีทด้วยตัวเอง
เด็กโตบางคนก็ฝึกนั่งคาร์ซีทยากเอามากๆ การพาเด็กไปเลือกซื้อคาร์ซีทที่เขาชอบ จะช่วยดึงดูดใจให้เด็กอยากนั่งมากขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นเลือกสีที่ชอบ เลือกลายการ์ตูนที่ชอบหรือให้เลือกของเล่นที่ชอบไว้สำหรับการเดินทางขณะนั่งคาร์ซีท เด็กจะรู้สึกว่าสิ่งที่เขาเลือกเป็นของเขา รู้สึกภูมิใจ รู้สึกว่าตัวเองสำคัญ เป็นการดึงดูดใจให้เด็กนั่งคาร์ซีทและเพิ่มความภาคภูมิใจในตัวเด็กไปพร้อมๆกันได้

4. สร้างบรรยากาศที่สนุกในการนั่งคาร์ซีท
การบังคับเด็กให้นั่งคาร์ซีทและต้องเจอสถานการณ์ที่พ่อแม่นั่งเงียบไม่พูดคุยด้วย อาจจะทำให้เด็กรู้สึกเครียดและไม่อยากนั่ง บรรยากาศที่ดีมีส่วนสำคัญให้เด็กผ่อนคลายได้ ในระหว่างเดินทาง พ่อแม่สามารถเล่นของเล่นไปกับลูก ร้องเพลงไปกับลูก เล่านิทาน เล่าเรื่องตลก ชวนกันกินขนม ชวนเด็กพูดคุยในสิ่งที่ชอบ หรือการเล่นเกมเล็กๆน้อยๆ เช่น เป่ายิ้งฉุบก็ช่วยให้การนั่งคาร์ซีทและการเดินทางนั้นพิเศษและลดความเครียดของเด็ก ทั้งยังเพิ่มความรู้สึกดีๆเข้ามาแทนได้
5. บอกลูกล่วงหน้าให้เด็กได้เตรียมตัวและเตรียมความรู้สึก
เมื่อต้องเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางไกล การนั่งคาร์ซีทเป็นเวลานานๆ เด็กอาจจะไม่ชอบ ดังนั้นการบอกล่วงหน้าว่าวันนี้ พรุ่งนี้หรืออาทิตย์หน้าจะมีการเดินทางและลูกต้องนั่งคาร์ซีท จะช่วยให้ลูกเตรียมตัวเตรียมใจได้ โดยพ่อแม่อาจเพิ่มแผนในระหว่างการเดินทางว่าเราจะแวะทานขนมทานไอศครีมที่ร้านนี้หรือแวะซื้อของเล่นเป็นเวลาสั้นๆ ที่ห้าง เด็กจะเปลี่ยนโฟกัสจากการไม่อยากนั่งคาร์ซีทเป็นเป้าหมายว่าจะได้ทานของอร่อย ได้ของเล่นหรือได้ไปในที่ที่อยากจะไปแทน
6. ชื่นชมและให้ของรางวัลเล็กๆน้อยๆ เมื่อลูกไม่งอแง
นอกจากสร้างความเอนเตอร์เทนให้ลูกเพื่อให้การนั่งคาร์ซีทเป็นไปอย่างดีแล้ว เมื่อลูกทำได้ดีไม่มีอาการงอแง พ่อแม่ก็ต้องแสดงออกถึงความชื่นชมว่าลูกทำได้ดี อาจเริ่มตั้งแต่การใช้คำพูดชื่นชมอย่างตรงไปตรงมา เช่น วันนี้ลูกนั่งคาร์ซีทไม่งอแงเลย เก่งมากลูก หรือจะเป็นการให้ขนมเล็กๆน้อยๆ เพื่อแสดงออกว่าพ่อแม่ชื่นชมและให้กำลังใจลูกอยู่ก็ได้เช่นกัน แต่มีข้อควรระวังว่าอย่าทำแบบนี้บ่อยๆ จนกลายเป็นว่าส่งเสริมให้ลูกทำความดีประพฤติดี เพื่อที่จะมีของแลกเปลี่ยน ควรทำบางโอกาสเท่านั้น เมื่ออาการงอแงหายไป ในทุกๆการเดินทาง พ่อแม่รวมถึงบนรถก็ควรเป็นการเดินทางที่ปกติ ไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์เรียกร้องขนม ของเล่นหรือของรางวัลต่างๆตลอดเวลา
7. ให้เวลาลูกได้ปรับตัว
เด็กก็เหมือนผู้ใหญ่ที่ต้องการเวลาในการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย แม้จะมีอาการงอแงหรืออารมณ์เสียในช่วงแรก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอาการเหล่านั้นจะอยู่ตลอดไป ระหว่างนี้พ่อแม่ก็ไม่ควรโต้ตอบด้วยอารมณ์โมโหหรืออารมณ์ในทางลบต่างๆ หากตอบโต้ด้วยอารมณ์และคำพูดในเชิงบวกจะสร้างความรู้สึกที่ดีกว่าให้ลูกอย่างแน่นอน ในขณะเดียวกันหากสร้างอารมณ์ความรู้สึกแบบตรงกันข้าม สิ่งเหล่านั้นก็จะติดอยู่ในความรู้สึกลูกไปตลอด ยากที่จะรักษาแผล ไม่ว่าจะอย่างไรพ่อแม่ก็มีหน้าที่โดยตรงที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกในทุกๆการปรับตัวและเติบโต

การเลี้ยงลูก 1 คนว่าไม่ง่ายแล้ว แต่ในระหว่างการเติบโตไม่ว่าจะก้าวเล็กๆ เช่นการพานั่งคาร์ซีทหรือก้าวใหญ่ๆในการเติบโตของลูก พ่อแม่ล้วนมีส่วนสำคัญทั้งนั้น แม้ในระหว่างทางจะเกิดสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่การไม่ทอดทิ้งลูกให้รู้สึกเกิดความโดดเดี่ยวแม้เพียงเล็กน้อยก็จะช่วยให้เป็นภูมิคุ้มกันที่ดีของลูกต่อไป เมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดีพอ สิ่งนั้นก็จะช่วยหล่อหลอมให้เด็กเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมได้ เพียงเท่านี้คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็คงจะรู้สึกภูมิใจและแม้แต่เด็กเองสักวันหนึ่งก็อาจจะนึกถึงวันที่หัดนั่งคาร์ซีทและการได้ใช้เวลาร่วมกับพ่อแม่เช่นกัน